ติว TGAT จำเป็นไหม เตรียมตัวติวอย่างไรให้ได้คะแนนดี มาลองดู 5 เทคนิคนี้กัน

ในบทความก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงรายละเอียดข้อสอบ TGAT กันมาพอสมควรแล้ว บทความนี้เราจึงอยากมาแชร์เกี่ยวกับขั้นตอนการเตรียมพร้อมก่อนสอบและแนวทางการติว TGAT เพราะข้อสอบ TGAT นั้นประกอบไปด้วย 3 พาร์ทด้วยกัน ได้แก่ การใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ตรรกะการใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ และความสามารถในการทำงาน การวางแผนการเตรียมตัวทั้ง 3 พาร์ทนี้ล่วงหน้าจะช่วยให้น้อง ๆ ไม่ตื่นเต้นตอนสอบ และสามารถทำข้อสอบได้สบายขึ้น

เนื้อหาข้อสอบ TGAT ไม่ได้ลงลึกอะไรมากมาย จะเป็นการวัดความสามารถและสมรรถนะว่าเรามีความพร้อมในการเรียนต่อและการทำงานมากน้อยแค่ไหน เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็นสาขาไหน ก็ล้วนต้องการบุคลากรที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษพื้นฐานและตรรกะในการคิดวิเคราะห์

การติวสอบ TGAT จึงจะเน้นในส่วนของภาษาอังกฤษ และการวิเคราะห์ตัวเลขเป็นส่วนใหญ่ โดยบทความนี้เรามี 5 เทคนิคการเตรียมตัวก่อนมาฝากกัน!

สำหรับน้องๆคนไหนที่อยากพิชิตข้อสอบอังกฤษอย่างง่ายดาย พี่หมอนิรินมีคอร์สอังกฤษ TGAT Eng & A-LEVEL Eng ที่ครบ เป๊ะ ตรงจุด จบในที่เดียว คลิกที่นี่เพื่ออ่านรายละเอียดได้เลย

5 เทคนิคการเตรียมตัวติว TGAT

1.เข้าใจวัตถุประสงค์ของข้อสอบ TGAT

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าข้อสอบนี้ต้องการวัดอะไรจากผู้สอบ ซึ่งชื่อเต็มของข้อสอบ TGAT ก็บอกอยู่แล้วว่าคือ Thai General Aptitude Test หรือ ข้อสอบวัดความถนัดและทักษะทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าข้อสอบก็จะไม่ได้เจาะลึกเชิงทฤษฎี แต่จะเน้นการทดสอบทักษะการนำไปประยุกต์ใช้จริง และมุมมองของผู้สอบมากกว่า หรือสรุปง่าย ๆ ว่า ข้อสอบไม่ได้ต้องการวัดว่าเรารู้อะไรบ้าง แต่จะวัดว่าเราสามารถเอาสิ่งที่รู้ไปประยุกต์ใช้ได้มากน้อยแค่ไหน

2. การเตรียมตัวติว TGAT ในพาร์ทภาษาอังกฤษ

ในพาร์ทนี้อาจจะท้าทายสำหรับบางคน เพราะก่อนที่จะนำภาษาอังกฤษไปประยุกต์ใช้จริงได้ เราต้องเข้าใจหลักภาษาและคำศัพท์พื้นฐานก่อน ใครที่เน้นติวภาษาอังกฤษเชิงทฤษฎีหนัก ๆ จะต้องลองทำตัวอย่างข้อสอบที่เน้นเรื่องการสื่อสาร หรือ Communication เพิ่มเติมด้วย

แต่หากใครพอมีพื้นฐานภาษาอังกฤษบ้างแล้วโดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร การทำข้อสอบพาร์ทนี้อาจไม่ใช่เรื่องยาก เพราะถ้าเราคุ้นเคยกับรูปประโยคก็จะช่วยให้เข้าใจบทสนทนาและการตอบโต้ได้มากขึ้น

3. การเตรียมตัวในพาร์ทตรรกะในการวิเคราะห์

การติว TGAT ในพาร์ทนี้วัดความสามารถในการวิเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ตัวเลขและการคำนวณ เช่น ข้อสอบอาจจะให้โจทย์ที่เป็นชุดตัวเลข หรือสถิติ และผู้สอบต้องนำตัวเลขนั้นมาคิดวิเคราะห์ต่อเพื่อหาคำตอบ โดยข้อสอบจะไม่ได้เน้นการทำโจทย์แก้สมการแบบตรง ๆ แต่เราต้องดูเองว่าถ้ามีชุดข้อมูลแบบนี้ จะต้องเอามาคำนวณต่ออย่างไรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ตามที่โจทย์ต้องการ

การฝึกทำโจทย์ในพาร์ทนี้บ่อย ๆ จะช่วยให้ผู้สอบรู้ว่าตัวเองยังอ่อนในส่วนไหนเพื่อที่จะได้ไปติวและเตรียมตัวให้ถูกจุด เช่น บางคนอาจไม่แม่นเรื่องการคำนวณ บางคนอาจไม่แม่นเรื่องการตีโจทย์ หรือบางคนอาจไม่แม่นเรื่องการวิเคราะห์ ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นต้องไปด้วยกัน

4. การเตรียมตัวในพาร์ทความสามารถในการทำงาน

พารท์นี้อาจเริ่มดูเบาลงกว่า 2 พาร์ทก่อนหน้านี้ เพราะจะอยู่ที่มุมมองต่อการทำงานของผู้สอบเป็นหลัก โดยข้อสอบจะเกี่ยวกับเรื่องการสร้างคุณค่าและนวัตกรรม การแก้ไขปัญหา การจัดการอารมณ์ และการมีส่วนร่วมต่อสังคม การเตรียมสอบเนื้อหาเหล่านี้จะเน้นไปที่การเข้าใจมุมมองของการทำงานในอนาคตและการรับมือต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเริ่มทำงาน

ผู้สอบอาจต้องลองทำตัวอย่างข้อสอบดูก่อน หากได้คะแนนดีก็ถือว่ามีมุมมองในด้านการทำงานที่ดีในระดับหนึ่ง แต่หากยังไม่ผ่านก็ควรไปลองดูว่ามุมมองไหนที่เรายังไม่เข้าใจ โดยสามารถลองสอบถามหรือปรึกษาติวเตอร์หรือผู้ใหญ่ได้

5. หนึ่งวันก่อนสอบจริงควรเตรียมตัวอย่างไร

เตรียมอุปกรณ์ในการสอบและวางแผนให้ดีว่าจะต้องเดินทางอย่างไร เวลาไหน และที่สำคัญในช่วงหนึ่งวันก่อนสอบ สิ่งที่ควรทำคือการหยุดคิดถึงข้อสอบ ทำใจให้สบาย อย่าอยู่ติดหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ เพราะจะทำให้สายตาและสมองล้าในวันสอบจริง อย่านอนดึก พยายามนอนให้เร็วกว่าปกติเล็กน้อย เพือที่จะได้ตื่นเช้ามาเตรียมตัวแบบไม่ต้องรีบร้อน

การติวสอบ TGAT ควรเริ่มตั้งแต่ช่วง ม.5 หรือถ้าเป็นไปได้ลองทำตัวอย่างข้อสอบตั้งแต่ ม.4 เลยก็ได้ เพื่อให้รู้สถานะของตัวเองก่อนว่ายังบกพร่องในส่วนไหนและเตรียมตัวติวได้ตรงจุด หากมาเริ่มเอาตอน ม.6 อาจจะไม่ทัน เพราะมีข้อสอบอีกหลายตัวที่น้อง ๆ จะต้องเตรียมตัวสอบในช่วงนั้น